คืนความมั่นใจให้กับรอยยิ้มด้วย

"จัดฟัน"

จัดฟันคืออะไร

การจัดฟัน คือการรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาฟันซ้อนเก เรียงตัวไม่สวยงาม ฟันยื่น ฟันสบลึก ฟันสบกันผิดปกติ ฟันล่างคร่อมฟันบนและรวมถึงแก้ไขปัญหาการบดเคี้ยวในบางเคส โดยคุณหมอจะตรวจอย่างละเอียดและวางแผนการรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

การจัดฟันหรือดัดฟัน ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง

• ปรับตำแหน่งของฟันให้เรียงเป็นระเบียบ สวยงามขึ้น

• ลดปัญหาฟันซ้อนเก ทำความสะอาดยาก ลดโอกาสเกิดฟันผุหรือโรคเหงือกอักเสบ

• เสริมบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจให้รอยยิ้ม

• ในบางเคสการจัดฟันช่วยปรับรูปหน้า เช่น ลดความยื่นหรืออูมของริมฝีปาก

• เปิดช่องว่างเพื่อใส่ฟันปลอม

• แก้ไขปัญหาการสบฟันในบางเคส

การจัดฟันเหมาะกับปัญหาฟันแบบไหนบ้าง

• ฟันบนยื่นอูม

• ฟันล่างยื่น

• ฟันสบเปิด

• ฟันซ้อนเก

• ฟันสบเบี้ยว

• ฟันห่าง

• ฟันล่างคร่อมฟันบน

เลือกจัดฟันที่ไหนดี

• ทันตแพทย์ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์

• คลินิกที่อุปกรณ์ เครื่องมือได้มาตรฐาน

• มีการทำความสะอาด สเตอร์ไลด์ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทุกเคส

• สถานที่สะดวกต่อการเดินทาง เพราะการจัดฟันต้องพบคุณหมอเป็นประจำทุก 1 - 2 เดือน เป็นเวลา 2 ปี

จัดฟันครั้งแรก เตรียมตัวอย่างไรบ้าง

• เลือกคลินิกที่อุปกรณ์สะอาดและมีมาตรฐาน

• ทำนัดหมายเพื่อพบคุณหมอเพื่อตรวจประเมินอย่างละเอียดและวางแผนการรักษา

• ประเมินค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการจัดฟัน

• เคลียร์ช่องปาก ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน/ผ่าฟันคุด (หากจำเป็น) ก่อนติดเครื่องมือจัดฟัน

การจัดฟันมีกี่ประเภท กี่แบบ

จัดฟันแบบติดแบร็กเก็ต

จัดฟันระบบไม่รัดยาง

การจัดฟันระบบนี้จะใช้แบร็กเก็ตที่ออกแบบพิเศษติดบนผิวฟัน โดยแบร็คเก็ตพิเศษนี้จะมีช่องใส่ลวดและล็อกลวดให้แนบกับตัวฟันมากที่สุด การจัดฟันด้วยแบร็กเก็ตนี้คนไข้จึงไม่ค่อยรู้สึกตึงหรือเจ็บปวดมากเท่าระบบยางรัด เนื่องจากเครื่องมือจะค่อย ๆ ออกแรงให้ฟันเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการทีละนิด อีกทั้งแบร็กเก็ตระบบไม่รัดยางยังมีแบบเซรามิกเลือก จึงมองเห็นไม่ชัดเจนเท่าแบร็คเก็ตเหล็กและด้วยการออกแบบพิเศษของอุปกรณ์ยังช่วยลดระยะเวลาการรักษากว่าการจัดด้วยแบร็กเก็ตเหล็กธรรมดา ทำให้สามารถปิดเคสได้เร็วขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อการดูแลความสะอาดช่องปากอีกด้วย

จัดฟันระบบยางรัด

การจัดฟันวิธีนี้จะติดเครื่องมือจัดฟัน(แบร็กเก็ต)บนผิวฟันเพื่อเป็นที่อยู่ของลวดและใส่ลวดบริเวณช่องพิเศษบนเครื่องมือ คุณหมอจะนัดหมายคนไข้เพื่อปรับเครื่องมือทุก 4 - 6 สัปดาห์เป็นประจำเพื่อให้ฟันเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ และปลอดภัยไปยังตำแหน่งที่วางแผนไว้ การจัดฟันแบบติดแบร็กเก็ตนี้อาจใช้เวลา 1 - 3 ปี หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแต่ละเคส โดยระบบยางรัดจะอาศัยยางจัดฟันที่มีสีสันสดใสช่วยยึดให้ลวดแนบกับแบร็กเก็ตบนผิวฟันและเพิ่มแรงในการดึงฟันให้เคลื่อนไปในตำแหน่งที่เหมาะสม เมื่อเราพบคุณหมอเพื่อปรับเครื่องมือและเปลี่ยนยาง 2 - 3 วันแรกจะมีอาการตึงและปวด เมื่อเวลาผ่านไป 4 - 6 สัปดาห์ คุณหมอก็จะนัดปรับเครื่องมืออีกครั้ง

จัดฟันใส

การใช้เครื่องมือที่ผลิตจากวัสดุพิเศษคล้ายพลาสติกใสซึ่งได้รับการวางแผนด้วยระบบดิจิตอลแต่ละบุคคลในการเคลื่อนฟันให้ไปยังตำแหน่งที่วางแผนไว้ โดยคุณหมอจะติด Attachment หรือปุ่มขนาดเล็กบนผิวฟันคนไข้ซึ่งมองแทบไม่เห็นและง่ายต่อการทำความสะอาดช่องปาก โดยคนไข้จะเปลี่ยนชิ้นงานตามระยะเวลาที่กำหนดและเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็คเป็นประจำตามที่ทันตแพทย์แนะนำ

จัดฟันใส Invisalign®

Invisalign อยู่ภายใต้ Align Technology ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับสากล ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปีค.ศ. 1997 Invisalign ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่หลายแขนงมาผสมผสานกันเพื่อเข้ามาช่วยในการรักษาจัดฟัน โดยถือเป็นระบบจัดฟันที่มีการพัฒนาที่นำสมัยที่สุดในโลกโดยนำ SmartTrackTM material (ดูว่าฟันเคลื่อนไปตามที่วางแผนหรือไม่) SmartStageTM technology (ใช้เทคโนโลยีวางแผนลำดับและการเคลื่อนฟันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ SmartForceTM attachments (เพื่อให้แรงที่เหมาะสมและแม่นยำในการเคลื่อนฟัน) การจัดฟันด้วย Invisalign จึงทำให้สามารถให้ผลลัพธ์ได้เป็นที่พึงพอใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ในการจัดฟันอยู่ตลอดเวลา

จัดฟัน มีขั้นตอนอะไรบ้าง

การตรวจสอบและวินิจฉัย

ขั้นตอนแรกในการจัดฟันคือการพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสภาพช่องอย่างละเอียด สแกนฟัน ถ่ายรูป เอกซเรย์ และพูดคุยถึงสาเหตุว่าทำไมคนไข้ต้องการจัดฟัน ต้องการแก้ไขจุดไหนเป็นพิเศษหรือไม่

การวางแผนการจัดฟัน

หลังจากการตรวจอย่างละเอียด ทันตแพทย์จะทำการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมตามสภาพฟันของแต่ละบุคคล อาจมีการเลือกใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดต่างๆ เช่น การใช้เหล็กจัดฟัน (braces) การใช้เครื่องมือใส (Invisalign) หรือเครื่องมืออื่นๆ ตามความเหมาะสม

การเตรียมตัวก่อนการติดเครื่องมือจัดฟัน

หากมีปัญหาฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมีฟันคุด คุณหมอจะแนะนำให้ทำการรักษาเพื่อเคลียร์ช่องปากให้พร้อมก่อนเริ่มต้นการจัดฟัน

การติดเครื่องมือจัดฟัน

ทันตแพทย์จะทำการติดเครื่องมือจัดฟัน เช่น การติดแบร็กเก็ต (Brackets) และลวด (Archwires) หรือ Attachment กรณีจัดฟันใส Invisalign ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนฟันไปยังตำแหน่งที่เหมาะสมตามแผนการรักษา โดยอาจติดเครื่องมือจัดฟันทั้งบนและล่างพร้อมกันในครั้งเดียวหรือบางครั้งอาจติดเฉพาะบางส่วนก่อนโดยคุณหมอจะพิจารณาตามแผนการรักษาของแต่ละบุคคล

การติดตามผลและการปรับเครื่องมือ

คุณหมอจะนัดคนไข้เพื่อมาปรับเครื่องมือและติดตามว่าฟันเคลื่อนไปตามแผนการรักษาที่วางไว้หรือไม่เป็นระยะๆ ประมาณทุก 4 - 6 สัปดาห์ เพื่อทำการปรับเครื่องมือให้เหมาะสมกับการเคลื่อนฟัน ในบางเคสอาจต้องใช้ยางหรือเครื่องมือเสริมต่างๆช่วยในการเคลื่อนฟันด้วย

การถอดเครื่องมือจัดฟัน

เมื่อฟันได้มีการจัดเรียงตามแผนแล้ว ทันตแพทย์จะทำการถอดเครื่องมือจัดฟันออกและพิมพ์ปากหรือสแกนช่องปากเพื่อทำรีเทนเนอร์ หลังถอดเครื่องมือจัดฟันคนไข้จำเป็นต้องใส่รีเทนเนอร์ 24 ชั่วโมงและถอดเฉพาะเวลาทานอาหารเป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นใส่เวลานอน 8 ชั่วโมง เพื่อคงสภาพฟันให้เรียงตัวสวยงามอยู่ตลอดไป

การติดตามหลังการจัดฟัน

การติดตามผลหลังจากการจัดฟันเสร็จสิ้นยังคงสำคัญ โดยทันตแพทย์จะตรวจฟันทุกระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าฟันยังคงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมทุก ๆ 6 เดือน - 1 ปี การจัดฟันใช้เวลานาน 1 - 3 ปี ขึ้นอยู่กับปัญหาของฟันและวิธีการจัดฟันที่ใช้ ซึ่งต้องมีการดูแลรักษาและการปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

จัดฟัน เตรียมค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

จัดฟันเริ่มต้น 35,000 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความซับซ้อนของแต่ละเคส คุณหมอจะช่วยตรวจประเมินในช่องปาก วางแผนการรักษาอย่างละเอียดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ต้องเตรียมคือ ค่าเอกซเรย์และค่าสแกนฟัน หลังจากตรวจฟันร่วมกับการประเมินเอกซเรย์แล้วคุณหมอจึงจะสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและประเมินค่าใช้จ่ายในการจัดฟัน โดยคนไข้สามารถเลือกแผนการรักษาที่ต้องการ แจ้งคุณหมอได้ว่าต้องการปรับหรือเพิ่มเติมตรงจุดไหน อีกทั้งยังสามารถมีส่วนร่วมในการวางแผนการรักษาร่วมกับคุณหมอ และหากมีข้อสงสัยคนไข้ยังสามารถสอบถามเพิ่มเติมกับคุณหมอได้อีกด้วย

จัดฟันรอบสอบ

จัดฟันรอบสอง
การจัดฟันรอบที่ 2 หรือการจัดฟันครั้งที่สองเป็นกระบวนการที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่การจัดฟันครั้งแรกไม่สามารถทำให้ฟันอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการได้ หรือฟันกลับมามีปัญหาหลังจากการจัดฟันเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาจากการไม่ใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน (Retainers) ตามคำแนะนำ หรือจากการพัฒนาของโครงสร้างฟันและกระดูกที่เปลี่ยนแปลงตามอายุ
สาเหตุที่ต้องจัดฟันรอบที่ 2

1. ฟันเคลื่อนตำแหน่งกลับมาที่เดิม

หลังจากการจัดฟันครั้งแรกเสร็จสมบูรณ์ หากผู้ป่วยไม่ได้ใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน (retainers) อย่างสม่ำเสมอ ฟันอาจจะเคลื่อนกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมที่ไม่ต้องการได้ การไม่ใส่รีเทนเนอร์ตามคำแนะนำของทันตแพทย์อาจทำให้ฟันกลับมาซ้อนเกหรือห่างอีกครั้ง

2. ปัญหาจากการจัดฟันไม่สมบูรณ์ในครั้งแรก

บางกรณีการจัดฟันครั้งแรกอาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น ฟันอาจยังคงมีการเบี้ยวเล็กน้อยหรือไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งอาจจำเป็นต้องจัดฟันเพิ่มเติม

3. การเปลี่ยนแปลงในกระดูกขากรรไกร

อายุที่เพิ่มขึ้นสามารถทำให้กระดูกขากรรไกรและฟันมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งอาจทำให้ฟันย้ายตำแหน่งได้ในบางกรณี

4. ปัญหาจากปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสุขภาพ

บางคนอาจมีการเจริญเติบโตของฟันที่ไม่สมมาตร หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างฟัน เช่น ฟันคุดที่ต้องถอน หรือปัญหาความผิดปกติในโครงสร้างขากรรไกรที่อาจต้องทำการรักษาเพิ่มเติม

5. การบาดเจ็บ

บางครั้งฟันอาจมีการเคลื่อนที่จากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ ทำให้การจัดฟันที่เสร็จสมบูรณ์ต้องทำใหม่

ข้อดีของการจัดฟันรอบที่ 2

1. ฟันจะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

การจัดฟันรอบที่ 2 ช่วยให้ฟันอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้น ฟันที่เบี้ยว ซ้อนเก หรือไม่สวยสามารถกลับมามีการเรียงตัวที่สวยงามและทำงานได้ดีขึ้นในการบดเคี้ยว

2. การแก้ไขปัญหาที่ไม่สมบูรณ์จากครั้งแรก

หากการจัดฟันครั้งแรกไม่ได้ผลลัพธ์ที่คาดหวัง การจัดฟันครั้งที่สองจะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้ฟันเรียงตัวดีขึ้น

3. ความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น

หลังจากการจัดฟันรอบที่ 2 ฟันที่เรียงตัวดีขึ้นสามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้น ทั้งในด้านการพูดและการยิ้ม

ข้อเสียและข้อควรพิจารณาของการจัดฟันรอบที่ 2

1. ระยะเวลาในการรักษา

การจัดฟันรอบที่ 2 อาจใช้เวลานานน้อยหรือมากกว่าการจัดฟันครั้งแรก ขึ้นอยู่กับสภาพของฟันและกระดูกขากรรไกรของแต่ละคน

2. ค่าใช้จ่ายในการจัดฟัน

ค่าใช้จ่ายในการจัดฟันครั้งที่สองอาจต่ำหรือสูงกว่าการจัดฟันครั้งแรก ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแต่ละเคส

3. ความรู้สึกไม่สะดวกในระหว่างการรักษา

ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สะดวกหรือไม่สบายตัวระหว่างการจัดฟันครั้งที่สอง โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่เครื่องมือใหม่อาจทำให้เกิดแผลในช่องปากหรือการเจ็บปวดจากการขยับฟัน

4. การดูแลที่เข้มงวด

ในระหว่างการจัดฟันครั้งที่สอง ผู้ป่วยต้องให้ความสำคัญในการดูแลสุขอนามัยช่องปากและใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน (Retainers) ตามคำแนะนำ เพื่อไม่ให้ฟันกลับมาเบี้ยวหรือซ้อนเกอีก

กระบวนการจัดฟันรอบที่ 2

1. การประเมินสภาพฟันและขากรรไกร

ทันตแพทย์จะเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบฟันและขากรรไกรของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นและหาสาเหตุของฟันที่เบี้ยวหรือเคลื่อนที่ การถ่ายเอกซเรย์ CBCT หรือเอ็กซเรย์อื่น ๆ อาจช่วยในการวินิจฉัยปัญหาลึก ๆ ที่ไม่สามารถเห็นได้จากการตรวจภายนอก

2. การวางแผนการรักษา

ทันตแพทย์จะวางแผนการรักษาใหม่ โดยอาจมีการเลือกเครื่องมือจัดฟันแบบใหม่ เช่น การใช้เครื่องมือแบบใสที่ให้ผลลัพธ์รวดเร็ว (Invisalign) หรือเครื่องมือแบบติดบนฟัน (Braces) ขึ้นอยู่กับสภาพของฟันและการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ

3. การติดเครื่องมือจัดฟัน

ทันตแพทย์จะติดเครื่องมือจัดฟันและเริ่มกระบวนการเคลื่อนฟันไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม โดยอาจใช้เวลาหลายเดือนถึงปี ขึ้นอยู่กับแต่ละเคส

4. การติดตามผลและการปรับเครื่องมือ

การติดตามผลเป็นสิ่งสำคัญในการจัดฟันรอบที่ 2 ซึ่งผู้ป่วยต้องไปพบทันตแพทย์ตามที่กำหนดเพื่อปรับเครื่องมือให้เหมาะสมกับการเคลื่อนที่ของฟัน

5. การดูแลหลังการจัดฟัน

หลังจากการจัดฟันเสร็จสมบูรณ์ ผู้ป่วยต้องใส่เครื่องมือถอด (Retainers) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม

การจัดฟันรอบที่ 2 เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาจากการจัดฟันครั้งแรก หรือสำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันที่เคลื่อนตำแหน่งหรือเบี้ยวหลังจากการจัดฟันครั้งแรก การจัดฟันครั้งที่สองสามารถช่วยให้ฟันกลับมาเรียงตัวดีขึ้น และเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วย แต่ต้องใช้เวลาในการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

รีเทนเนอร์ (Retainer)

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการรักษาและคงสภาพฟันหลังจากการจัดฟันเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้ฟันยังคงอยู่ในตำแหน่งใหม่ที่ถูกต้องสวยงามและเรียงตัวเป็นระเบียบ หลังจากการเคลื่อนฟันในช่วงการจัดฟันที่ใช้เครื่องมือ เช่น แบร็กเก็ตเหล็กหรือการจัดฟันแบบใส (Invisalign) ซึ่งรีเทนเนอร์มีความสำคัญหลายประการดังนี้

ช่วยป้องกันการเคลื่อนที่ของฟัน

• หลังจากที่ฟันถูกขยับให้ตรงตามแผนการรักษา ฟันจะยังไม่แน่นอยู่ในตำแหน่งใหม่ในทันที เพราะกระดูกและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ฟันต้องใช้เวลาปรับตัว การใส่รีเทนเนอร์จะช่วยให้ฟันอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการจนกว่ากระดูกและเนื้อเยื่อจะมีความมั่นคงมากขึ้น และไม่กลับไปที่ตำแหน่งเดิม

ลดความเสี่ยงในการกลับมาผิดรูป

• ฟันมีแนวโน้มที่จะกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม (Relapse) ถ้าไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน ดังนั้นการใส่รีเทนเนอร์ตามคำแนะนำของทันตแพทย์จะช่วยให้ฟันไม่กลับไปผิดรูปหรือห่างกันเหมือนเดิม

รักษาผลลัพธ์ของการจัดฟัน

• รีเทนเนอร์ช่วยให้ผลลัพธ์จากการจัดฟันอยู่ได้นาน ซึ่งเป็นการรักษาผลลัพธ์ในระยะยาว หลังจากที่ฟันถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่เรียงตัวสวยงาม รีเทนเนอร์จะช่วยให้ฟันคงรูปทรงที่สวยงามและตรงตามแผนที่วางไว้

ใช้ในการป้องกันปัญหาฟันในอนาคต

• รีเทนเนอร์ยังสามารถช่วยป้องกันปัญหาฟัน เช่น กรณีฟันคุดขึ้นดันฟันซี่ข้างเคียง รีเทนเนอร์จะช่วยลดโอกาสการเคลื่อนที่ของฟันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

• การใช้รีเทนเนอร์อย่างต่อเนื่องหลังการจัดฟันช่วยให้ทันตแพทย์มั่นใจว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ในระยะยาว หลังจากเสร็จสิ้นการจัดฟันแล้ว

ประเภทของรีเทนเนอร์

• รีเทนเนอร์แบบถอดได้ (Removable Retainer) มักทำจากพลาสติกใสหรือโลหะ สามารถถอดออกเมื่อกินหรือทำความสะอาดฟันได้

• รีเทนเนอร์แบบติดแน่น (Fixed Retainer) เป็นลวดบาง ๆ ที่ติดแน่นที่ด้านหลังของฟันหน้าบนหรือล่าง เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ของฟันตลอดเวลา

ความสำคัญของการใช้รีเทนเนอร์อย่างสม่ำเสมอ

• การใส่รีเทนเนอร์ตามคำแนะนำของทันตแพทย์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยทั่วไปทันตแพทย์มักแนะนำให้ใส่รีเทนเนอร์ตลอดทั้งวันในช่วงแรกหลังการจัดฟันและถอดออกเฉพาะเวลาทานอาหารเท่านั้น และอาจค่อย ๆ ลดการใช้งานลงในภายหลัง (เช่น ใส่เฉพาะตอนกลางคืน) ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของทันตแพทย์

• รีเทนเนอร์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการคงผลลัพธ์จากการจัดฟัน และป้องกันไม่ให้ฟันกลับไปผิดรูป ดังนั้นการดูแลรักษาและใส่รีเทนเนอร์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามหลังการจัดฟัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy